ปูพื้นด้วย “SPC” มีดีอย่างไร ทำไมถึงเป็นพื้นไม้ยอดฮิตของไทยในปัจจุบัน

ปูพื้นด้วย “SPC” มีดีอย่างไร ทำไมถึงเป็นพื้นไม้ยอดฮิตของไทยในปัจจุบัน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กังวลเรื่องปลวกกัดกินพื้นไม้หรือเรื่องพื้นไม้บวมจากการเจอน้ำขัง ขอบอกเลยว่าพื้น SPC ที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของคุณอย่างแน่นอน เพราะพื้น SPC เป็นพื้นที่ถูกพัฒนาต่อมาจากพื้นไม้ลามิเนต อะไรที่เป็นข้อเสียของลามิเนตนั้น พื้น SPC ได้เข้ามาอุดรอยรั่วดังกล่าวเรียบร้อย เรียกว่าเป็นไม้ปูพื้นที่ได้รับความนิยมในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเด่นในเรื่องของเรื่องการติดตั้งที่ง่ายจนสามารถทำเองได้สบายๆ โดยรวมแล้วถือว่าเหมาะกับประเทศไทยสุดๆ เกริ่นกันมาขนาดนี้ก็มาดูไปด้วยกันเลยดีกว่าว่าการปูพื้นด้วย SPC นี้มีดีจริงมั้ย ถ้าเทียบกับพื้นไม้ลามิเนตจะเป็นยังไง ดูแลรักษาง่ายสมคำร่ำลือหรือไม่ มาหาคำตอบไปด้วยกัน

พื้น SPC (Stone Plastic Composite Flooring) รู้จักกันในชื่อไทยก็คือ “พื้นกระเบื้องยางลายไม้” จุดเด่นที่สุดคือเป็นพื้นที่ไม่มีส่วนประกอบที่มาจากไม้จริง 100% วัสดุที่นำมาผลิตเป็นพื้นไม้ชนิดนี้คือพลาสติกพีวีซี (PVC) ผสมกับผงปูนขาว (แคลเซียมคาร์บอเนต) ถูกบดอัดเข้าด้วยกันออกมาเป็นแผ่นเดียว พื้น SPC เลยโดดเด่นในเรื่องของความเหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรงและทนทานเป็นอย่างมาก เมื่อเดินลงบนพื้น SPC เราจะรู้สึกได้ถึงความนุ่มหยุ่น ด้วยเหตุนี้จึงโบกมือลาปัญหาพื้นไม้บวมโก่งตัวหรือเป็นรอยขีดข่วนได้ทันที รับประกันว่ากันน้ำ กันไฟ กันปลวก กันรอยขีดข่วนหรือถูกกระทบแรงๆ ก็ไม่เกิดปัญหาน่ารำคาญใจ รับแรงกดทับได้ดี รอยต่อเรียกได้ว่าเรียบเนียนจนมองไม่เห็น ติดตั้งง่ายสามารถทำเองได้หรือถ้าหากให้ผู้ชำนาญดำเนินการก็จะได้งานที่เรียบร้อยยิ่งขึ้น สามารถติดตั้งในห้องครัวได้ไม่เหมือนกับพื้นที่มีส่วนประกอบของไม้จริงอยู่เพราะเสี่ยงต่อการลุกลามของไฟ โดยเราสามารถแบ่งส่วนประกอบของพื้น SPC ได้เป็น 4 ส่วนดังนี้

  1. SPC Core : ตัวพื้น SPC หลัก เป็นพลาสติกพีวีซี + ผงปูนขาว ถูกบีบอัดด้วยวิธีพิเศษจนเป็นแผ่น ทนชื้น แข็งแรง ไม่มีการขยายตัว ปลวกไม่กัดกิน บางแบรนด์จะมีการผสมสารพิเศษต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ
  2. Color Film : เป็นชั้นฟิล์มลายไม้บางๆ ประกอบลงไปบนชั้น SPC Core ปัจจุบันนอกจากลายไม้ชนิดต่างๆ ที่ทำให้เสมือนจริงมากที่สุด พื้น SPC ยังมีลายพื้นเสมือนปูนเปลือยหรือลายหินอ่อนมาเป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้งานอีกด้วย ทำให้เราสามารถนำพื้น SPC มาใช้ปูพื้นหรือตกแต่งอาคารที่อยู่อาศัยได้หลายสไตล์มากขึ้น
  3. Ware Layer : ชั้นกันรอยขีดข่วนต่างๆ มีลักษณะคงทนต่อรอยขีดข่วน ผิวสัมผัสจะคล้ายๆ ไม้จริงๆ ถือว่าเป็นชั้นที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับหน้าผิวพื้น SPC
  4. UV Layer : เป็นอีกหนึ่งชั้นที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกัน ช่วยกันแสงจากรังสี UV ที่ตกลงมากระทบ ทำให้ลายพื้นที่พิมพ์ลงมาคงอยู่ยาวนานยิ่งขึ้น ไม่เฟดตัวเร็ว เมื่อมองดูแล้วจะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่ถูกติดตั้งขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ

แม้ว่าพื้น SPC จะมีส่วนประกอบของผงปูนขาวแต่ก็สามารถไว้ใจได้เลยว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อระบบภายในร่างกายอย่างแน่นอน เพราะไม่มีสาร Formaldehyde และไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เพื่อนๆ สามารถตรวจสอบกับแบรนด์ที่ขายพื้น SPC ได้ทันทีว่าตัวพื้นไม้ดังกล่าวผ่านมาตรฐานสากลใดบ้างเพื่อความสบายใจ

พื้น Laminate เป็นพื้นที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับพื้น SPC มากที่สุด ด้านราคาพื้น SPC จะแพงกว่าเล็กน้อยเนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้มีไม้จริงเป็นส่วนประกอบเลยสักส่วนเดียวจึงทำให้ลดต้นทุนด้านนี้ลงไปได้ แต่พื้น Laminate นั้นราคาจะขึ้นอยู่กับเนื้อไม้แกนหลักภายในที่นำมาใช้ นอกจากนี้ตัวพื้น SPC นั้นจะแตกต่างกับพื้น Laminate เป็นอย่างมากเนื่องจากพื้น SPC นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาช่วยกลบข้อด้อยต่างๆ ของพื้น Laminate เพราะฉะนั้นพื้น SPC จึงกันน้ำได้ดี กันปลวกกัดกิน มีชิ้นงานที่บางเพียง 4 – 5 มิลลิเมตรและเคลื่อนย้ายง่ายกว่าพื้น Laminate ที่หน้า 8- 12 มิลลิเมตรด้วยกัน อย่างไรก็ตามผิวสัมผัสของทั้งสองพื้นไม้ก็มีความแตกต่างที่ถ้าหากสัมผัสจะรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นในการเลือกใช้งานจึงควรสำรวจสไตล์และความชอบของตัวเองเสียก่อนเป็นอันดับแรก

ตัวพื้น SPC จะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 มิลลิเมตร เรียกว่าเป็นพื้นที่มีความบางเบา ปกติจะถูกใส่มาในกล่องวางซ้อนๆ กัน วิธีการปูพื้น SPC นั้นก็ง่ายแสนง่าย เพราะมาในระบบ Click Lock ส่วนสำคัญจะอยู่ที่การเตรียมพื้นที่ในการปูพื้น เพื่อนๆ จะต้องเคลียร์พื้นที่บริเวณนั้นให้เรียบเนียน ไม่มีรอยตะปุ่มตะป่ำ ถ้าหากพื้นบริเวณที่ต้องการปูมีความไม่เสมอกัน แนะนำให้ทำการวางแผ่นโฟมเพื่อปรับระดับพื้นให้เรียบเสมอกันเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยทำการปูพื้น SPC ลงไป ระบบ Click Lock สามารถติดตั้งง่ายๆ ด้วยการนำพื้นไม้อีกชิ้นตั้งแนวและกดลงหรือตอกเบาๆ เพื่อให้แต่ละมุมไม้เชื่อมกัน เมื่อต่อกันจนเต็มพื้นที่ก็ถือว่าเป็นอันเรียบร้อย พื้นที่สำเร็จจะต้องเรียบเนียน สม่ำเสมอไร้รอยต่อ โดยการติดตั้งจะต้องเว้นระยะกับขอบกำแพงประมาณ 1 เซนติเมตรเอาไว้ติดบัว

ข้อควรระวังของการใช้พื้น SPC จะมีเพียงในเรื่องของการขัดหน้าผิว การใช้น้ำยาฤทธิ์กรดหรือผงซักฟอกเท่านั้น เนื่องจากผิวบนสุดเป็นการเคลือบชั้นกัน UV และเคลือบสารพิเศษต่างๆ เอาไว้ หากเจอกับสิ่งต่างๆ ด้านบนก็อาจจะทำให้สารที่เคลือบนั้นเสื่อมสภาพหรือหลุดลอกออกมาได้ ในการดูแลรักษาความสะอาดอื่นๆ เพื่อนๆ สามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นและไม้ถูพื้นได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าถ้าหากเปียกแล้วไม้จะบวมหรือไม่ เพราะพื้น SPC ไม่มีส่วนประกอบของไม้จริง

ทางบริษัทยินดีนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเรา SPC ราคาเบาๆ เริ่มต้นที่ 400 บาท/ตารางเมตร ตัวลายไม้มีหลากหลายสีให้เลือก

บทความที่น่าสนใจ

Top