ความรู้จัก “Engineered Wood” คืออะไร? น่าใช้หรือไม่มาดูกัน

ความรู้จัก “Engineered Wood” คืออะไร? น่าใช้หรือไม่มาดูกัน

การขยายตัวของไม้จริงสร้างปัญหาให้ผู้รักพื้นไม้สำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเหล่าผู้ผลิตจึงหาทางออกด้วยการพัฒนาพื้นไม้ Engineered Wood ขึ้นมาเพื่ออุดข้อด้อยต่างๆ ของพื้นไม้สำเร็จ สำหรับใครที่ยังคงหลงใหลกับผิวสัมผัสของไม้จริงแต่ไม่สู้ราคาที่สูงจนไม่อาจจับต้องได้ การหันมาพึ่ง Engineered Wood ก็เป็นทางออกที่ดีเลยทีเดียว หากใครที่ไม่รู้ว่า Engineered Wood คืออะไร เราจะมาขยายความให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน บอกเลยว่าน่าใช้กว่าที่ใครหลายคนคิดอย่างแน่นอน

Engineered Wood หรือพื้นไม้เอ็นจิเนียร์คือพื้นไม้ที่เหมาะสำหรับคนที่รักผิวสัมผัสและลวดลายสวยงามของไม้จริงแต่งบประมาณไม่สูงนัก พื้นไม้สำเร็จคือการใช้ไม้จริงทั้งแท่งมาผลิต สำหรับ Engineered Wood นั้นก็นำไม้จริงมาผลิตเช่นกัน หากแต่ไม้จริงนั้นจะอยู่เพียงชั้นบนสุดที่เรามองเห็นเท่านั้น มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะนึกภาพไม่ออก หลักของ Engineered Wood นั้นถูกผลิตขึ้นมาเพื่อประหยัดต้นทุนและกลบข้อด้อยของพื้นไม้สำเร็จ เพราะฉะนั้นถ้าหากมองจากมุมหน้าตัดจะเห็นได้ทันทีว่า Engineered Wood นั้นมีหลายเลเยอร์ประกอบกันอยู่ในไม้ชิ้นเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะมีทั้งหมด 3 ชั้นหลักๆ ด้วยกันดังนี้

  1. ชั้นบนสุด (Top Layer) หรือผิวหน้า

สำหรับชั้นนี้จะเป็นการนำไม้จริงที่หนาประมาณ 3 มิลลิเมตรมาวางเอาไว้ เพราะฉะนั้นหากสัมผัสลงบนพื้นไม้ Engineered Wood เราก็จะได้สัมผัสแบบเดียวกับที่สัมผัสพื้นไม้สำเร็จ ไม้จริงที่นำมาผลิตเป็นชั้นบนสุดสามารถใช้ได้ทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน หากใครที่ต้องการสีแปลกตาแต่ยังสวยงามก็มักจะเลือกเป็นพื้นผิวไม้โอ๊คซึ่งเมื่อเคลือบสารต่างๆ จะทำให้สีไม้เปลี่ยนไปได้หลายแบบ นอกจากนี้ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่าและไม้แดง ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่หลายคนเลือกใช้งานเช่นกันเนื่องจากมีความแข็งแรงและสวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม้แพ้ไม้อื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด

 

  1. ชั้นกลาง (Middle Layer)

ในชั้นกลางของ Engineered Wood นี้ ผู้ผลิตมักจะใช้ไม้อัดชนิดต่างๆ เข้ามาใช้งาน ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวพื้นไม้ และถ้าหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการจัดวางพื้นไม้ในชั้นนี้จะจัดให้เป็นแนวขวางกับชั้นบนสุดเพื่อที่จะได้ทนทานและสามารถรับแรงกดตัวที่จะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดการขยายตัวของไม้จริงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

  1. ชั้นล่าง (Bottom Layer)

Engineered Wood ชั้นล่างสุดส่วนใหญ่จะใช้ไม้ราคาถูกเพื่อประหยัดต้นทุน ชั้นนี้เป็นเพียงชั้นที่เสริมความแข็งแรงให้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ตัวอย่างไม้ที่ใช้ในชั้นนี้ก็จะเป็นไม้ยางพาราที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก

อย่างที่เราได้เกริ่นกันไปว่าไม้ Engineered Wood นั้นเกิดขึ้นจากไม้หลายส่วนประกอบกันเป็นชั้นๆ จนกลายเป็นแผ่นเดียวกัน ทีนี้เราจะมาเจาะดูกันว่าไม้ใดบ้างที่ถูกนำมาใช้ทำพื้นไม้ชนิดนี้ สำหรับไม้จริงชั้นบนนั้น เพื่อนๆ สามารถหาข้อมูลได้จาก Solid Wood หรือพื้นไม้จริงได้ทันที เนื่องจากตัวชั้นบนสุดที่เรากล่าวไปนั้นเป็นไม้จริงจากธรรมชาติแท้ๆ เพียงแต่ถูกทำให้บางเพื่อประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่สำหรับชั้นกลางและชั้นล่างจะมีการใช้ไม้ที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • ไม้อัด (Plywood) : เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงสูง อีกทั้งยังไม่ยืดหรือหดตัวง่ายเหมือนกับไม้จริง แม้จะแตกง่ายแต่ถ้าประกอบเข้าด้วยกันดีๆ ก็ทนทานไม่แพ้ใคร ตัวไม้อัดเป็นการนำไม้ท่อนซุงหลายๆ ชนิดผสมและอัดเข้าด้วยกันโดยมีกาวเป็นตัวประสานเศษไม้ทั้งหมด
  • ไม้ยางพารา : เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลางที่มีความแข็งแรง ทนทาน แต่ว่าน้ำหนักเบาและหาได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงมีราคาที่ถูก ประหยัดต้นทุนได้มาก ความอ่อนตัวสูงเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ สามารถตัดแต่งไม้ยางพาราได้ง่ายๆ

สำหรับพื้นไม้ Engineered Wood จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 2,000 บาท/ตารางเมตร ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนๆ เลือกไม้อะไรเป็นไม้ชั้นบนสุด หากเลือกไม้สักเป็นพื้นผิว ก็เป็นเรื่องแน่นอนว่าราคาต่อตารางเมตรนั้นจะสูงกว่าชนิดอื่นเพราะเป็นไม้จริงที่มีราคาสูง ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายบริษัทด้วยกันที่นำเข้าพื้นไม้ Engineered Wood ทำให้มีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้งาน

พื้นไม้ Engineered Wood นั้นสามารถติดตั้งได้ง่ายและใช้เวลาน้อย ส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นพื้นห้องนอน ห้องนั่งเล่นและโถงทางเดินเนื่องจากเป็นห้องที่ไม่มีความชื้นหรือมีความชื้นต่ำ ทั้งนี้ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าก็นิยมนำไม้ชนิดนี้มาติดตั้งเป็นพื้นของร้านค้า เพราะให้ความรู้สึกสะอาด สบายตา ดูดี โดยการติดตั้งพื้นไม้ Engineered Wood นั้นนอกจากการติดตั้งแบบก่ออิฐ (Brick Pattern) ซึ่งเป็นการติดตั้งแบบมาตรฐานแล้ว ยังสามารถติดตั้งให้ดูมีลูกเล่นดังหลายสไตล์ตามนี้

  • แบบแรนด้อม (Random Pattern) สุ่มติดตั้งพื้นไม้แบบไม่มีลักษณะตายตัว หากแต่ผู้ติดจะต้องมีความชำนาญ รูปแบบนี้จะทำให้ดูเป็นธรรมชาติสูง สามารถคละขนาดของไม้ในการติดตั้งได้
  • แบบก้างปลา (Herringbone Pattern) สำหรับลายนี้จะให้ความรู้สึกถึงความประณีต มีความสวยงาม งานละเอียด มักจะถูกติดตั้งภายในร้านที่ต้องการความหรูหรา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งลายยอดฮิตที่ถูกใช้งาน ณ ขณะนี้
  • แบบบั้งก้างปลา (Chevron Pattern) เป็นการติดตั้งพื้นไม้ที่ทำให้พื้นนั้นๆ ดูมีมิติมากขึ้น เป็นระเบียบสวยงาม ขอบเรียบเสมอกัน

ข้อดี –

  • Engineered Wood ได้ผิวสัมผัสเหมือนไม้สำเร็จเนื่องจากใช้ไม้จริงเป็นพื้นผิวบนสุดเหมือนกัน
  • ลวดลายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ตามเนื้อไม้ที่เราเลือก
  • ประหยัดงบประมาณเพราะใช้ไม้จริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  • ราคาต่อแผ่นถูกกว่าไม้สำเร็จ
  • ติดตั้งง่าย ไม่ต้องขัดสีเมื่อติดตั้งเสร็จเพราะตัวไม้ถูกเคลือบมาพร้อมใช้งาน
  • ใช้เวลาในการติดตั้งน้อย ไม่ต้องรอนานก็ใช้งานได้จริง

ข้อเสีย –

  • เกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายเนื่องจากชั้นบนสุดเป็นไม้จริง
  • ไม่ควรโดนน้ำหรือใช้บริเวณที่น้ำขังเนื่องจากตัวพื้น Engineered Wood ยังคงมีส่วนประกอบมาจากไม้หรือเศษไม้ทั้งหมด หากโดนน้ำหรือมีความชื้นจะทำให้ไม้ขยายตัวหรือไม้บวมได้
  • ติดตั้งได้แค่บนพื้นเรียบเท่านั้น ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดเสียงกระทบตอนเดินได้

ไม่สามารถขัดสีได้บ่อยเนื่องจากพื้นไม้ชั้นบนสุดที่เป็นไม้จริงนั้นเป็นเพียงชั้นบางๆ เท่านั้น ถ้าหากต้องการซ่อมแซมควรถอดเป็นชิ้นและเปลี่ยนใหม่ไปเลย

หลายคนมักจะนำไม้ชนิดนี้ไปเปรียบเทียบกับไม้ลามิเนตที่ราคาถูกกว่า แต่ความแตกต่างที่ชัดที่สุดนั้นก็คือผิวสัมผัสนั่นเอง แม้ว่าพื้นไม้ลามิเนตจะสามารถเลียนแบบลายไม้ได้ แต่ก็ไม่อาจนำเอกลักษณ์ กลิ่นอาย ลวดลายของไม้จริงๆ ที่ตัวไม้ Engineered Wood นำมาใช้ได้ 100% เพราะฉะนั้นพื้นนี้ก็ยังคงน่าใช้งานและตอบโจทย์สำหรับคนที่รักไม้จริงแต่ก็มีงบประมาณก่อสร้างน้อย ในเรื่องความแข็งแรงทนทานนั้น Engineered Wood ไม่แพ้พื้นไม้ชนิดอื่นๆ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าหากใครที่ลังเลไม่รู้ว่าจะเลือกใช้พื้นไม้ชนิดนี้ดีหรือไม่ ก็สามารถนำข้อมูลพื้นฐานด้านบนไปศึกษาเพิ่มเติมได้ หรือถ้าหากต้องการสัมผัสตัวพื้นไม้จริงๆ ตามสถานที่ขายพื้นไม้ก็จะมีให้ทดลองจับและดูของจริงกันอยู่ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้ Engineered Wood ถูกใช้ในงานก่อสร้างกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

บทความที่น่าสนใจ

Top